กุยช่าย พืชทำเงินของคนเมืองโอ่ง

ราชบุรี…นับเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของบ้านเรามาช้านาน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำรวมทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของชาวสวนที่นี่ ทำให้ที่นี่การปลูกพืชที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตพืชคุณภาพอีกด้วย ทั้งการผลิตไม้ผล พืชผักล้วนมาจากฝีมือชาวสวนระดับเซียนทั้งนั้น วันนี้จะพาไปดูการปลูกกุยช่ายของชาวสวนระดับเซียนอีกคนหนึ่งของวงการ นั่นคือ คุณบัญชา หนูเล็ก เจ้าของ “สวนผักอุดมทรัพย์” ซึ่งเป็นสวนที่ปลูกผักกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ร่วมแรงร่วมใจกันผลิตผักคุณภาพให้กับผู้บริโภค เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก พืชที่ผลิตล้วนได้รับการรับรองมาตรฐานตามระบบ GAP ทั้งหมด สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและการสร้างกำลังใจให้กับผู้ผลิตที่ต้องการปลูกผักที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภคได้มีสุขภาพที่ดีเรื่อยมา คุณบัญชาเล่าว่า พื้นที่เกษตรทั้งหมดมีประมาณ 60 ไร่ ครึ่งหนึ่งปลูกพืชอย่างหลากหลาย เช่น คะน้า ผักกาดหอม กวางตุ้ง ขึ้นช่าย สลับกันไปตามช่วงจังหวะการขึ้นลงของราคา พืชผักชนิดไหนที่คาดว่าจะได้ราคาดีในช่วงไหนก็จะปลูกในช่วงนั้นๆ ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 30 ไร่ นำมาปลูกกุยช่ายทั้งหมด โดยจะปลูกไล่รุ่นหมุนเวียนกันไปในพื้นที่ 30 ไร่ รุ่นหนึ่งก็จะปลูกคราวละ 6-7 ไร่ ซึ่งจะทำให้มีกุยช่ายป้อนตลาดตลอดทั้งปี คุณบัญชาเล่าว่า ครั้งแรกนั้นจะปลูกผักกินใบเต็มพื้นที่ 60 ไร่ ต่อมาใน ปี 42 ได้นำกุยช่ายมาปลูกเป็นเจ้าแรกของเมืองราชบุรี ซึ่งครอบครัวคุณบัญชาเดิมอยู่ที่ตลิ่งชันซึ่งชาวสวนที่นี่นิยมปลูกกุยช่ายกัน แต่สำหรับราชบุรีแล้วกุยช่ายกลายเป็นพืชหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคยของชาวบ้านที่นั่น ขณะที่คุณบัญชามองว่ากุยช่ายเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวแล้วอยู่ได้นานไม่ต้องปลูกและลงทุนบ่อยเหมือนผักชนิดอื่นที่ชาวบ้านที่นี่ปลูกกัน วันเวลาผ่านไปกุยช่ายก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจของชาว อ.บางแพ จ.ราชบุรี คุณบัญชา บอกว่า กุยช่ายจะมีวัฏจักรในการผลิตแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ซึ่งการเก็บเมล็ดพันธุ์จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จึงจะเก็บเมล็ดแก่จัดเพื่อใช้ทำพันธุ์ได้ การปลูกกุยช่ายเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์จะปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะ ไม่เก็บผลผลิตอื่นๆ เด็ดขาด เช่น การตัดใบขาย หรือเก็บดอก ทั้งนี้เพื่อคงความสมบูรณ์ของเมล็ดพันธุ์ให้มากที่สุด 2. ระยะต้นกล้าสำหรับปลูก จะใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือนจึงสามารถนำไปปลูกลงแปลงได้ 3. การปลูกหลังจากที่เตรียมดินไว้แล้ว ต้นกล้าที่ใช้ปลูกจะตัดใบออกให้เหลือความยาวประมาณ 5-6 ซม. นำลงดำในแปลงที่เตรียมไว้โดยใช้ 4-6 ต้นต่อกอ ดำลึกประมาณ 1 นิ้ว พอที่ให้ต้นกุยช่ายตั้งตัวอยู่ได้ ระวังอย่าทำให้คอหัก ต้องปักดำต้นให้ตั้งตรง เว้นระยะห่างระหว่างกอประมาณ 1 คืบ ดำเสร็จแล้วคลุมด้วยฟาง เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้น ลดความร้อนที่ลงสู่ดิน และรดน้ำตาม แค่พอชื้น การปลูกกุยช่ายเริ่มจาก การเตรียมดินให้ดี จากนั้นโรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินแล้วเติมความสมบูรณ์ของดินด้วยการใส่ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยรองพื้นเพิ่มธาตุอาหารและปรับสภาพโครงสร้างของดินให้ดีก่อนปลูก ส่วนการดูแลนั้นกุยช่ายเป็นพืชที่ชอบชื้นไม่ชอบแฉะ การให้น้ำก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ให้ดินมีความชื้นอยู่เพียงพอตลอด และควรมีการถ่าย/วิดน้ำในร่องสวน 3 หรือ 4 เดือนครั้ง เพื่อลดความเป็นกรดในดิน ส่วนการให้ปุ๋ยในช่วงแรกหลังปลูกได้ 7 วัน จะใส่ปุ๋ยเคมี ยูเรีย (46-0-0) หรือสูตร 25-7-7 เพื่อเร่งต้น ให้แตกรากและตั้งตัวได้ พอตั้งต้นได้ดีแล้วก็จะไม่เร่งต้นมากเพราะเดี๋ยวโครงสร้างจะอ่อนแอ โรคเข้าทำลายได้ง่าย ปุ๋ยที่ให้จะเปลี่ยนเป็นสูตรเสมอผสมกับปุ๋ยชีวภาพบ้าง ซึ่งสัดส่วนที่ใช้ก็จะดูจากสภาพต้นหรือความต้องการของพืชเป็นหลัก รวมทั้งการแก้ปัญหาในแต่ละฤดูกาลเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตตามที่ต้องการ อย่างเช่น หน้าร้อน ผักไม่ค่อยโต ใบไม่ค่อยงาม ก็ต้องมีการกระตุ้นด้วยยูเรียหรือปุ๋ยสูตรตัวหน้า(N) สูง หน้าฝน ผักได้ไนโตรเจนจากฝนเยอะแล้ว ก็จะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอหรือสูตรตัวกลาง (P) กับตัวท้าย (K) สูง เพื่อกดใบไว้ไม่ให้งามเกิน เพราะจะทำให้เกิดโรคเน่าง่ายและหน้าหนาว ใบจะงามเองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่พืชไม่ค่อยออกดอกติดผล ก็จะใส่ปุ๋ยสูตรที่หนักไปทางตัวกลางกับตัวท้ายสูง เพื่อช่วยให้กุยช่ายออกดอกมากขึ้นในช่วงหนาวซึ่งเป็นช่วงที่ดอกกุยช่ายมักจะมีราคาแพง ส่วนการจัดการด้านโรค-แมลง นั้นจะเน้นการป้องกันเอาไว้ก่อนโดยดูจากสภาพอากาศเป็นหลัก เช่น อากาศร้อน อบฝน ที่มักจะเกิดโรค แมลงได้ง่าย ก็จะต้องมีการฉีดยาป้องกันเอาไว้ โรคที่มักระบาดและเจอบ่อยในแปลงกุยช่ายก็จะมีใบเน่า ยุบ ถ้าระบาดรุนแรงใบจะเน่าเสียหาย ทำให้ต้นเน่ายุบตายเป็นหย่อมๆหรือตายหมดทั้งแปลง ส่วนใหญ่จะเกิดปัญหาช่วงฝนก็จะพ่นสารเคมีในกลุ่มเมทาแลกซิลเพื่อจัดการกับโรค ช่วงหนาวก็อาจใบจุดสนิมบ้างพ่นสารในกลุ่มคอปเปอร์หรือกำมะถันก็ช่วยได้ ส่วนแมลงไม่ค่อยเป็นปัญหากับกุยช่ายพ่นเพียงไซเปอร์เมทรินและอะบาเม็คตินคุมไว้ก็พอแล้ว กุยช่ายอายุได้ 4 เดือนก็สามารถตัดใบขายได้แล้ว ในการตัดมีดแรกจะต้องคลุมฟางใหม่ รดน้ำและใส่ปุ๋ย ผ่านไปได้ 10 วันก็จะมีดอกกุยช่ายทยอยออกมาให้เก็บดอกขายต่ออีก หลังตัดใบครั้งแรก 2 เดือน ก็จะสามารถวนกลับมาตัดใบได้อีกครั้ง ถือเป็นครั้งที่ 2 หรือมีดที่ 2 เป็นอย่างนี้สลับหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ในการตัดแต่ละครั้งจะทำให้ต้นเล็กลงไปเรื่อยๆและดอกก็จะสั้นลง จึงต้องมีการบำรุงเพื่อให้ต้นสมบูรณ์อยู่เสมอ โดยกุยช่ายแต่ละแปลงจะสามารถตัดใบขายได้ประมาณ 4-5 มีด หรือหากดูแลดี ต้นสมบูรณ์ก็จะสามารถตัดได้ถึง 7 มีด เมื่อใบเริ่มไม่สวยไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ก็จะทำเป็น “กุยช่ายขาว” โดยใช้กระถางดินเผาครอบที่ต้นหลังจากที่ตัดใบในมีดสุดท้ายแล้ว พร้อมกับกางซาแลนช่วยพรางแสง เพื่อลดความร้อนที่ลงสู่กระถาง ใช้เวลา 10-12 วัน ก็สามารถตัดขายเป็นกุยช่ายขาวได้แล้ว โดยจะทำกุยช่ายขาวอยู่ประมาณ 2 รุ่นก็จะโล๊ะออก เรื่องของการตลาดนั้น คุณบัญชา บอกว่า การทำตลาดต้องมีการวางแผน “ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย” ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส ผลผลิตที่นี่จะส่งแม่ค้าที่ตลาดศรีเมืองส่วนหนึ่ง อีกส่วนนำไปขายเองที่ตลาดสี่มุมเมือง สำหรับราคาและปริมาณการผลิตกุยช่ายนั้นขึ้นอยู่กับฤดูกาล อย่าง หน้าร้อนจะได้ดอก 180 กก.ต่อ 1 ไร่ต่อการเก็บเกี่ยว 3 วัน หน้าฝนก็เช่นกัน ส่วนหน้าหนาวดอกจะได้ 6 กก.ต่อ 1 ไร่ต่อ 3 วัน ส่วนต้นหรือใบหน้าร้อนจะได้ปริมาณ 4 ตันต่อไร่ ตัดทุก 2 เดือน หน้าฝนต้นหรือใบจะได้ 6 ตันต่อไร่ตัดทุก 2 เดือน หน้าหนาวจะได้ 8 ตันต่อไร่ ตัดทุก 2 เดือน ส่วนราคาใบและต้น หน้าหนาวจะอยู่ที่ 12 บาทต่อกก. หน้าฝนจะได้ 27 บาทต่อกก. หน้าร้อน 25 บาทต่อกก. ราคาดอกหน้าหนาว 60 บาทต่อกก.หน้าฝนดอกราคา 40 บาทต่อกก.หน้าร้อน 30 บาทต่อกก. ข้อมูลเพิ่มเติม คุณบัญชา หนูเล็ก 9/5 ม.7 ต.บางแพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี   Rakkaset Nungruethail  รักษ์เกษตร แหล่งที่มา : http://www.vigotech.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539816143&Ntype=8
[fbcomments url="https://www.parichfertilizer.com/knowledge/%e0%b8%81%e0%b8%b8%e0%b8%a2%e0%b8%8a%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%a2-%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b8%8a%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b9%80%e0%b8%87%e0%b8%b4%e0%b8%99/" width="375" count="off" num="3" title="แสดงความคิดเห็น" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save